ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ มาตรา 144 ฟ้องซ้ำ มาตรา 148 ฟ้องซ้อน มาตรา 173 วรรสอง (1)

24 มกราคม 2568

🔵 ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

 ▶️ 1. กรณีดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในคดีเดียวกัน

  1.1. กรณีดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นแห่งคดี

  - กรณีที่ศาลสูงได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อใดแห่งคดีไปแล้ว และย้อนสำนวนมาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นข้ออื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 ดังนี้ ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยประเด็นที่ศาลสูงวินิจฉัยไปแล้วอีกไม่ได้

  1.2. กรณีดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นตามคำร้องหรือคำขอ เช่น

  - ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาไปแล้ว หากมายื่นคำร้องอีกโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคำร้องฉบับแรก เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ (ฎ.3981/2555)

  - ข้ออ้างในคำร้องเป็นประเด็นเดียวกัน แม้คำขอท้ายคำร้องต่างกัน = ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำได้ (ฎ.9829/2558)

  1.3. การยื่นคำร้องที่จะทำให้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำยังรวมถึงคำร้องในชั้นบังคับคดีด้วย


 ▶️ 2. กรณีดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำกับคดีอื่น มีองค์ประกอบดังนี้

  องค์ประกอบที่ 1 คู่ความทั้งสองคดีต้องเป็นคู่ความเดียวกัน

  องค์ประกอบที่ 2 ประเด็นทั้งสองคดีต้องเป็นประเด็นเดียวกัน

  องค์ประกอบที่ 3 ต้องมีคำพิพากษาซึ่งวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีใดคดีหนึ่งแล้ว


🔵 ฟ้องซ้ำ หลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ 

▶️ 1. คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง 


▶️ 2. ประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกัน ทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว


คำว่า “ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน” หมายความว่า คดีหลังที่คู่ความเดียวกันจะมารื้อร้องฟ้องกันอีกอันจะเป็นฟ้องซ้ำนั้น มีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องหรือสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเดียวกัน (ฎ.3547/2556) หรือประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดี (ฎ.7458/2553) หรือมีประเด็นโดยตรงที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน (ฎ.4636/2556) หรือมูลฐานและข้ออ้างเป็นอย่างเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว และคำพิพากษาหรือคำสั่งที่วินิจฉัยนั้นถึงที่สุดแล้ว ถ้าคดีก่อนยังไม่ได้มีการวินิจฉัยในประเด็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา แม้คดีก่อนถึงที่สุด โจทก์นำเรื่องเดียวกันมาฟ้องจำเลยอีก คดีหลังก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ.7458/2553)


▶️ 3. คู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความคดีแรก


📍 คู่ความเดียวกันอาจจะสลับฐานะกัน กล่าวคือ โจทก์คดีก่อนกลับเป็นจำเลยคดีหลัง หรือจำเลยคดีก่อนกลับเป็นโจทก์ในคดีหลัง 

📍 แต่ถ้าโจทก์และจำเลยคดีหลังเคยเป็นคู่ความฝ่ายเดียวกันในคดีก่อน เช่น เป็นจำเลยด้วยกัน คดีหลังไม่เป็นฟ้องซ้ำ 


🔵 ฟ้องซ้อน

▶️ 1. โจทก์และจำเลยในคดีก่อนกับคดีหลังเป็นคนคนเดียวกัน 


กรณีจะเป็นฟ้องซ้อนได้ คดีแรกกับคดีหลัง โจทก์และจำเลยต้องเป็นคนคนเดียวกัน หมายความว่า คดีแรกโจทก์ฟ้องจำเลยไว้แล้ว คดีหลังโจทก์เดิมก็ยังมาฟ้องจำเลยอีก คดีหลังจึงเป็นฟ้องซ้อน แต่หากว่ามีการสลับฐานะ เช่น คดีแรกโจทก์ฟ้องจำเลย แต่คดีหลังจำเลยได้ฟ้องโจทก์ในคดีแรกเป็นจำเลย เช่นนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อน 

(ต่อ 2 )

▶️ 2. คดีแรกอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล 


คดีแรกต้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล นั่นหมายความว่าคดีแรกคดียังไม่มีคำพิพากษา คำว่าอยู่ระหว่างการพิจารณา ก็หมายถึง คดีอยู่ในศาลตั้งแต่เวลาที่ยื่นคำฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และจะเป็นศาลใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา (หมายความรวมถึงภายในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือฎีกาด้วย หากต่อมามีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา (ฎีกาที่ 2555/2538, 8450/2538) แต่ถ้าต่อมาไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาภายในกำหนดเวลาอุทธรณ์หรือฎีกา ก็ไม่ถือว่าคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา (ฎีกาที่ 684/2548)) 


▶️ 3. ประเด็นในคดีแรกกับคดีหลังเป็นประเด็นเดียวกัน 


กล่าวคือ คดีแรกและคดีหลังมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้อง หรือสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเดียวกัน หรือประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดี หรือมีประเด็นโดยตรงที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน 

รายการที่ 1 - 1 จาก 1