- หน้าหลัก
- สาระน่ารู้
- เลคเชอร์กฎหมาย
- ร้องขัดทรัพย์ มาตรา 323
ร้องขัดทรัพย์ มาตรา 323
▶️ ร้องขัดทรัพย์ เป็นบทคุ้มครองสิทธิของบุคคลภายนอก กรณีคำพิพากษาซึ่งเป็นหนี้เงินกระทบบุคคลภายนอก โดยกฎหมายให้ความคุ้มครองถึงขั้นให้ปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึดทั้งหมดหรือบางส่วน แล้วแต่กรณีตามข้อเท็จจริง
▶️ หลักเกณฑ์การใช้สิทธิร้องขัดทรัพย์
📌 1) หนี้ตามคำพิพากษาระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องเป็น “หนี้เงิน”
📌 2) การร้องขัดทรัพย์อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติ มาตรา 55
✅ หมายความว่า บุคคลภายนอกที่จะใช้สิทธิร้องขัดทรัพย์ต้องเป็นผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิ กล่าวคือ บุคคลภายนอกจะต้องมีสิทธิตามกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งในทรัพย์สินนั้น หากบุคคลภายนอกมิได้มีสิทธิใดในทรัพย์สินนั้นย่อมไม่อาจร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนตามมาตรา 323 ได้
✅ บุคคลภายนอกที่จะใช้สิทธิร้องขัดทรัพย์ซึ่งถูกโต้แย้งสิทธิ จะต้องถูกโต้แย้งสิทธิโดยการบังคับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยวิธียึดเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีการอายัดสิทธิเรียกร้อง ในคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะมีการยื่นคำร้องขัดทรัพย์เข้าไปในชั้นบังคับคดีไม่ได้
📌 3) บุคคลภายนอกที่กฎหมายคุ้มครองตามมาตรา 323 มี 4 ประเภท
📍3.1 บุคคลภายนอกซึ่งกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้
- เป็นประเภทที่อาจอ้างได้ทั้งในชั้นพิจารณา (โจทก์ขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยไว้ชั่วคราว ตามมาตรา 254 (1)) และชั้นบังคับคดี
📍3.2 บุคคลภายนอกอ้างว่าตนเป็นเจ้าของรวมซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้แบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัด (ตามความเป็นจริงก่อนมีการยึดทรัพย์สิน)
- ที่ดินมีกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง หากมิได้มีการแบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัด ตามความเป็นจริง บุคคลภายนอกซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินนั้นมีสิทธิเพียงขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเท่านั้น
- ที่ดินมีกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง หากมีการแบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัดตามความเป็นจริง บุคคลภายนอกซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน ย่อมมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดในส่วนของตนได้ (ฎ.2451/2548)
• ข้อยกเว้น
ที่ดินมีเพียงสิทธิครอบครอง แม้ได้แบ่งการครอบครองเป็นสัดส่วน และลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้นำที่ดินไปจำนองไว้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเฉพาะที่ดินในส่วนของตนเพื่อประกันชำระหนี้ บุคคลภายนอกซึ่งเป็นเจ้าของรวมไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ ทำได้เพียงขอกันส่วนเงินจากการขายทอดตลาด
หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะจดทะเบียนจำนองนั้น เจ้าหนี้จำนองทราบอยู่แล้วว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษาแบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัดกับเจ้าของรวมคนอื่นแล้ว บุคคลภายนอกซึ่งเป็นเจ้าของรวมมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ได้
📍3.3 บุคคลภายนอกอ้างว่าตนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แบ่งได้
บุคคลภายนอกที่มีสิทธิร้องให้ปล่อยทรัพย์ ตามมาตรา 323 ต้องเป็นเจ้าของรวมในสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แบ่งได้เท่านั้น หากเป็นทรัพย์แบ่งไม่ได้ บุคคลภายนอกมีสิทธิเพียงขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเท่านั้น
📍3.4 บุคคลภายนอกที่กล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
▶️ หลักเกณฑ์การยื่นคำร้องขอขัดทรัพย์
1) คำร้องขัดทรัพย์ ยื่นต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี
2) ยื่นภายใน 60 วัน นับแต่ยึดทรัพย์สินนั้น
3) กรณีมีพฤติการณ์พิเศษ ยื่นไม่ช้ากว่า 7 วัน ก่อนขายทอดตลาดครั้งแรก
4) กรณีมีเหตุสุดวิสัย ยื่นก่อนขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น