จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในหน้า 1 ของสัญญาประนีประนอมยอมความร่วมกับทนายโจทก์ แต่ไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อจำเลยในหน้า 2 ต่อมาศาลได้พิพากษาตามยอม คำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

25 มกราคม 2568

คำถาม : จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในหน้า 1 ของสัญญาประนีประนอมยอมความร่วมกับทนายโจทก์ แต่ไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อจำเลยในหน้า 2 ต่อมาศาลได้พิพากษาตามยอม คำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?


คำตอบ : ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 138 แล้ว


การที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในหน้า 1 ของสัญญาประนีประนอมยอมความร่วมกับทนายโจทก์เพื่อรับรองการแก้ไขข้อความ ย่อมเพียงพอที่จะถือได้ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดอันได้แก่ตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 851 แล้ว ประกอบกับพฤติการณ์ที่ก่อนจะมีคำพิพากษาตามยอม ศาลได้ตรวจสัญญาประนีประนอมยอมความและจดบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นรายละเอียดข้อตกลงของคู่สัญญาและมีคำพิพากษาให้บังคับไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยศาลอ่านสัญญาประนีประนอมยอมความและคำบังคับให้จำเลยฟัง และจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับทราบในรายงานกระบวนพิจารณาไว้แล้ว แม้จำเลยจะไม่ลงลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อจำเลยในหน้า 2 ของสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม คำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 แล้ว


คำพิพากษาฎีกาที่ 433/2566 จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในหน้า 1 ของสัญญาประนีประนอมยอมความร่วมกับทนายโจทก์เพื่อรับรองการแก้ไขข้อความจำนวนเงินที่ผ่อนชำระต่อเดือน ย่อมเพียงพอที่จะถือได้ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดอันได้แก่ตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 851 แล้ว แม้จำเลยจะไม่ลงลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อจำเลยในหน้า 2 ของสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม ทั้งก่อนที่จะมีคำพิพากษาตามยอม ศาลได้ตรวจสัญญาประนีประนอมยอมความและจดบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นรายละเอียดข้อตกลงของคู่สัญญาและมีคำพิพากษาให้บังคับไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยศาลอ่านสัญญาประนีประนอมยอมความและคำบังคับให้จำเลยฟัง และจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับทราบในรายงานกระบวนพิจารณาไว้แล้ว คำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความจึงชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 โจทก์มีสิทธิบังคับคดีกับจำเลยตามคำพิพากษาตามยอม

รายการที่ 1 - 1 จาก 1