ฟื้นฟูกิจการ คำสั่ง "ยกเลิกคำสั่ง" ให้ฟื้นฟูกิจการ

27 มกราคม 2568

▶️ เหตุที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการที่สำคัญ คือ 

1) มีการเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาตั้งผู้ทำแผน แต่ไม่สามารถเลือกผู้ทำแผนได้ หรือศาลไม่เห็นด้วยกับผู้ทำแผนซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเลือกโดยมีเหตุอันควร (มาตรา 90/17 วรรคสี่,วรรคห้า)

2) ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ หรือไม่ลงมติประการใด หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุม (มาตรา 90/48 วรรคสี่, 90/54 วรรคเจ็ด)

3) ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน (มาตรา 90/58 วรรคสาม ประกอบมาตรา 90/48 วรรคสี่)

4) เมื่อผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่ง แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้เลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ไม่ได้ (มาตรา 90/68 มาตรา 90/46)


▶️ ผลของคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ มีดังนี้

1) กระบวนพิจารณาในการฟื้นฟูกิจการและคำสั่ง รวมทั้งแผนและข้อกำหนดในแผนเป็นอันยกเลิกเพิกถอนไป

2) สิทธิหน้าที่ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้กลับไปเป็นดังเดิม เจ้าหนี้กลับไปมีสิทธิได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน (ไม่ต้องผูกพันตามแผนอีกต่อไป)

3) แต่ก็ไม่กระทบถึงการชำระหนี้ที่ได้กระทำไปแล้วก่อนศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ (ก่อนหน้านี้มีการชำระหนี้ไปแล้วเพียงใด ก็ถือว่าหนี้ในส่วนนั้นได้ระงับไปแล้ว ชำระต่อในส่วนที่เหลือ)

4) แม้เจ้าหนี้ตามมาตรา 90/27 จะไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ก็ยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้นั้นเต็มจำนวนตามมาตรา 90/61 (2)

5) อำนาจการจัดการกลับสู่ผู้บริหารลูกหนี้ (มาตรา 90/74)


▶️ น่าสนใจ

*ฎ.81/2565 เมื่อศาลฎีกาไม่อาจเห็นชอบด้วยแผนตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลางและมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว ศาลฎีกาย่อมมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและคำสั่งยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ซึ่งมีผลทำให้คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนของศาลล้มละลายกลางเป็นอันถูกยกเลิกเพิกถอนไปในตัว สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งปวงย่อมกลับไปเป็นดังเดิมตามที่มีอยู่ก่อนที่ศาลล้มละลายการจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ลูกหนี้ได้ดำเนินการชำระหนี้ตามเงื่อนไขความสำเร็จที่กำหนดไว้ในแผนจนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการแล้วก็ตาม การชำระหนี้นั้นมีผลเพียงหนี้ที่เจ้าหนี้ทั้งปวงมีต่อลูกหนี้เป็นอันละงับไปเท่าที่ลูกหนี้ได้ชำระ ลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ขาด

รายการที่ 1 - 1 จาก 1