โจทก์ขาดนัด ป.วิ.อ. มาตรา 166

3 มีนาคม 2568

🔴เลคเชอร์วิอาญา


มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

  คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น โดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

  ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว”


📌 1. โจทก์ หมายถึง โจทก์ (ผู้เสียหาย) พนักงานอัยการโจทก์ ทนายโจทก์ เสมียน (ผู้รับมอบฉันทะ)


📌 2. คำว่า “กำหนดนัด” ที่ว่าถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้อง หมายความถึงกำหนดนัดต่อไปนี้

- นัดไต่สวนมูลฟ้อง (มาตรา 166)

- นัดตรวจพยานหลักฐาน (มาตรา 166 + 173/2 วรรคหนึ่ง)

- นัดสืบพยานโจทก์ (มาตรา 166 + 181)

- นัดไต่สวนคำร้องขอคืนของกลาง (ป.อ. มาตรา 36)

  หากเป็นนัดอื่นนอกจาก 4 นัด ดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าโจทก์จะไม่มาตามกำหนดนัด ก็ไม่ถือว่าโจทก์ขาดนัด ศาลไม่อาจยกฟ้องโจทก์เพราะเหตุขาดนัดได้ กรณีเช่นว่านี้โจทก์เพียงแต่เสียสิทธิในเรื่องนั้น ๆ เท่านั้น 


📌 3. ที่ว่าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดให้ศาลพิพากษายกฟ้องนั้น โจทก์ต้องได้ทราบกำหนดนัดโดยชอบแล้ว

⭐️ กล่าวคือ จะต้องปรากฏว่ามีการส่งหมายให้โจทก์โดยชอบ หากมีการส่งหมายไม่ชอบและโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ไม่ว่าจะเป็นวันนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือวันนัดพิจารณาก็ตาม ศาลจะพิพากษายกฟ้องไม่ได้ หากศาลยกฟ้องไป กรณีก็ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 166 วรรคสอง (ฎ.2178/2536)

รายการที่ 1 - 1 จาก 1