คำถาม : การที่ผู้ขายฝากชำระเงินแก่ผู้ซื้อฝากเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาไถ่ทรัพย์ไปแล้ว จะถือว่ามีผลเป็นการขยายกำหนดระยะเวลาในการไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 หรือไม่ ?

20 เมษายน 2568

#ขายฝาก #แพ่ง #เนติบัณฑิต #สอบผู้ช่วยผู้พิพากษา #สอบอัยการผู้ช่วย #สอบงานราชการ 


คำถาม : การที่ผู้ขายฝากชำระเงินแก่ผู้ซื้อฝากเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาไถ่ทรัพย์ไปแล้ว จะถือว่ามีผลเป็นการขยายกำหนดระยะเวลาในการไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 หรือไม่ ?


คำตอบ : ไม่ถือว่าเป็นการขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์


การขยายเวลาการขายฝาก ต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เช่น มีหลักฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 ดังนี้ การชำระเงินแต่เพียงอย่างเดียวไม่ถือว่าเป็นการขยายกำหนดเวลาไถ่ แม้ผู้ซื้อฝากจะรับเงินจำนวนดังกล่าวไว้ก็หาทำให้ผู้ขายฝากมีสิทธิที่จะไถ่ทรัพย์ที่ขายฝาก กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าการชำระเงินของผู้ขายฝากเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ แต่การรับเงินของผู้ซื้อฝากเป็นการได้รับชำระหนี้นั้นปราศจากมูลเหตุจะอ้างตามกฎหมายได้และทำให้ผู้ขายฝากเสียเปรียบ เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็น "ลาภมิควรได้" ผู้ซื้อฝากต้องคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย


คำพิพากษาฎีกาที่ 14959/2556 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง บัญญัติว่า การขยายกำหนดเวลาไถ่นั้น อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ เมื่อพิจารณาจากหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินที่โจทก์และจำเลยจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินระบุว่าหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินดังกล่าวมีกำหนดเวลา 3 ปีนับแต่วันทำสัญญาคือวันที่ 9 พ.ค. 2543 ซึ่งหมายถึง โจทก์ต้องชำระเงินค่าสินไถ่ที่ดินที่ขายฝากภายในวันที่ 9 พ.ค. 2546 หลังจากนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการขายกำหนดเวลาไถ่โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยเป็นผู้รับไถ่ไว้ ดังนั้น การชำระเงิน 20,000 บาท และ 200,000 บาท ในวันที่ 1 ส.ค. 2543 และวันที่ 17 ม.ค. 2547 ตามลำดับ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระเงินค่าสินไถ่ที่เกิดจากการขยายกำหนดเวลาไถ่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้จำเลยจะรับชำระเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวไว้จากโจทก์ ก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิไถ่ที่ดินขายฝากคืนจากจำเลยได้


โจทก์ชำระเงินสินไถ่แก่จำเลยเนื่องจากเข้าใจว่าโจทก์ยังมีสิทธิที่จะไถ่ที่ดินที่ขายฝากได้ จึงไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากคืนจากจำเลยได้ การที่จำเลยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวมาจากโจทก์จึงปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางโจทก์เสียเปรียบ โดยคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอมา 2 กรณี คือ ขอไถ่ที่ดินคืน และขอสินไถ่ที่ชำระเกินไป 148,000 บาท เมื่อได้ความว่า โจทก์ไม่มีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากคืนจากจำเลยได้ เงิน 220,000 บาท ที่โจทก์ชำระไปหลังจากพ้นกำหนดเวลาไถ่ที่ดินแล้ว จึงไม่ใช่เป็นเพียงค่าสินไถ่ที่โจทก์ชำระเกินไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ แต่เป็นเงินที่จำเลยรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ กรณีจึงเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา 406 วรรคหนึ่ง



รายการที่ 1 - 1 จาก 1