ความผิดฐานรับของโจร ป.อ. มาตรา 357

23 มิถุนายน 2568


#เลคเชอร์กฎหมาย

#อาญา  #รับของโจร 


▶️ ข้อพิจารณา

1. ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด

1.1 ช่วยซ่อนเร้น หมายถึง การปกปิดไม่ให้พบเห็น หรือพบเห็นได้ยากขึ้น 

1.2 ช่วยจําหน่าย หมายความถึง การทําให้ทรัพย์นั้นพ้นไปจากผู้ได้ทรัพย์นั้นมาโดยการส่งมอบต่อไป ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ เช่น ช่วยนําทรัพย์ไปยังผู้ค้า ช่วยนําทรัพย์ไปจํานํา ดังนั้น คําว่าจําหน่ายในที่นี้ ไม่ต้องมีผลถึงขนาดโอนกรรมสิทธิ์ เพราะเพียงแต่ช่วยพาทรัพย์ไปจํานํา ก็เป็นความผิดฐานรับของโจรแล้ว

กรณีช่วยไถ่ทรัพย์ที่คนร้ายลักมา เพื่อช่วยเหลือคนร้ายจำหน่ายทรัพย์ ผู้นั้นมีความผิดฐานรับของโจร (ฎ.391/2521), แต่ถ้า!! ช่วยไถ่ทรัพย์ที่คนร้ายลักมา เพื่อช่วยเหลือเจ้าของทรัพย์ โดยไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับคนร้าย ไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร (ฎ.4283/2528)

1.3 ช่วยพาเอาไปเสีย หมายความว่า ทําให้ทรัพย์เคลื่อนที่จากที่เดิมพ้นไปจากความยึดถือครอบครองเดิม แต่คงไม่ได้หมายความว่าจะต้องเอาไปถึงในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์อย่างในกรณีความผิดฐานลักทรัพย์ เช่น จำเลยรู้ว่ายางพาราแผ่นของกลางเป็นทรัพย์ที่คนร้ายไปลักมา แล้วนำไปซ่อนไว้ การที่จำเลยลงมือเก็บยางพาราแผ่นเตรียมขนไป จึงเป็นการช่วยพาเอาไปเสียซึ่งทรัพย์ที่ได้มาจากการลักทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร (ฎ.1937/2533)

1.4 ซื้อ หมายถึง การรับทรัพย์ที่เป็นของโจรโดยมีค่าตอบแทน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นการซื้อที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการรับของโจรย่อมเป็นความผิดกฎหมายอยู่ในตัว ไม่อาจจะเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ได้ รวมทั้งการซื้อในที่นี้ต้องได้มีการส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อแล้วด้วย 

เช่น จําเลยอยู่ปากถ้ำที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานพบคนร้ายมีกระบือผูกอยู่ในถ้ำ จําเลยเพียงแต่มาดูกระบือ ตั้งใจจะซื้อ ยังไม่ได้ตกลงซื้อก็ถูกจับ ยังไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร (ฎ.1609/2522)

⚠️ข้อสังเกต หากเพียงแค่ตกลงพูดคุยติดต่อกันเพื่อจะซื้อหรือไม่ โดยยังไม่เกิดการตกลงซื้อ เช่นนี้ ศาลตีความว่า ยังไม่ถึงขั้นลงมือพยายามกระทำความผิดฐานรับของโจร แต่ถ้าตกลงซื้อแล้ว แต่ยังมิได้ส่งมอบการครอบครองในทรัพย์นั้นให้ ก็เป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดเท่านั้น

1.5 รับไว้โดยประการใด เป็นการบัญญัติไว้กว้าง ๆ คือ ถ้ารับของโจรไว้แล้ว ไม่ว่าจะรับด้วยวิธีใด ก็อาจจะเป็นความผิดได้ เช่น รับฝาก รับไว้เป็นค่าจ้าง รับไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ หรือรับเช็คไว้เพื่อจะนําไปเบิกเงิน หรือรับซ่อมรถจักรยานยนต์ (ฎ.2177/2520)

 

(ต่อ1)

2. ต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐาน ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ภายใต้หลักตามมาตรา 59 วรรคสาม คือผู้กระทำต้องได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด

⚠️ข้อสังเกต ความผิดประธานต้องเป็น 9 ฐานความผิดตาม มาตรา 357 เท่านั้น ถ้าเป็นฐานอื่นนอกจากนี้ ผู้รับไว้ไม่ผิดรับของโจร เช่น โกงเจ้าหนี้ 

 หากทรัพย์ที่รับมาไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด ก็ไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร

2.1 หากผู้กระทำรับไว้โดย “ไม่รู้ว่าทรัพย์ดังกล่าวได้มาจากการกระทำความผิด” (ไม่รู้ว่าเป็นของโจรในขณะรับไว้) ถือว่าผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 59 หากมารู้ในภายหลัง แล้วยังขืนจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์ดังกล่าวต่อไปอีก การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร

2.2 แม้จะรู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด แต่ถ้าเป็นการรับไว้ในฐานะที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ในความผิดฐานนั้น ๆ อยู่แล้ว ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ก็ไม่อาจมีความผิดฐานรับของโจร ตาม ม.357 ได้อีก

 

(ต่อ2)

3. เหตุที่จะทําให้ของโจรหมดสภาพไป ทำให้การกระทำต่อทรัพย์ภายหลังที่ของโจรหมดสภาพไปแล้วนั้น ไม่เป็นความผิดฐานรับของโจรอีกต่อไป

3.1 เหตุที่ทำให้ของโจรหมดสภาพไป 

(1) ทรัพย์เป็นของโจรได้เปลี่ยนสภาพไปเป็นทรัพย์อย่างอื่น เช่น ลักโค ถ้าเอาโคมาแล่เป็นชิ้น ๆ ในกรณีเช่นนี้ ยังถือว่าเนื้อโคยังเป็นของโจรอยู่ แต่ถ้าเอาเนื้อโคนั้นไปแกงเผ็ด แกงเผ็ดนี้ก็ไม่ใช่ของโจรอีกต่อไป

(2) การที่เอาทรัพย์ที่เป็นของโจรนั้นไปแลกเปลี่ยนกับทรัพย์อื่น ก็ไม่ทําให้ทรัพย์ที่ได้มาใหม่นั้นเป็นของโจร เช่น ลักทองรูปพรรณไปจํานํา เงินที่ได้จากการจํานําไม่ใช่ของโจร (ฎ.638/2538)

(3) ทรัพย์ที่เป็นของโจรย่อมหมดสภาพความเป็นของโจร เช่น เมื่อเจ้าของได้ทรัพย์นั้นคืน หรือเมื่อเจ้าหน้าที่ยึดทรัพย์นั้นมาเป็นของกลาง 

(4) เมื่อเจ้าของเดิมหมดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์อันเป็นของโจร ยกตัวอย่างเช่น กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1383 

3.2 ดอกผลจากของโจร ไม่ถือว่าเป็นของโจร ผู้กระทำที่รับไว้ แม้จะรู้ว่าเป็นดอกผลจากของโจรก็ไม่มีความผิดฐานรับของโจร

3.3 ความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 มิใช่เป็นความผิดเฉพาะกรณีรับทรัพย์ไว้จากคนร้ายซึ่งลักทรัพย์หรือกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามมาตรา 357 วรรคแรก โดยตรงเท่านั้น การรับทรัพย์ไว้จากผู้กระทำความผิดฐานรับของโจร หากรับไว้โดยรู้อยู่ว่าทรัพย์ที่ถูกลักมาก็เป็นความผิดฐานรับของโจร (รับของโจรทอดที่ 2) (ฎ.4611/2533) 

รวมถึงแม้ผู้รับไว้ในทอดแรก จะไม่รู้ว่าเป็นของโจรในขณะรับ แต่ต่อมาทราบว่าเป็นของโจร แล้วจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์นั้นต่อไป โดยผู้ที่รับไว้ในทอดหลังรู้ว่าทรัพย์นั้นได้มาจากการกระทำความผิด (ความผิดประธาน) ผู้รับไว้ในทอดหลังมีความผิดฐานรับของโจรได้ 

 

4. ผู้ที่จะกระทำความผิดฐานรับของโจรได้ ต้องมาเกี่ยวข้องกับทรัพย์ที่เป็นของโจร ภายหลังที่ความผิดที่เป็นประธานสำเร็จไปแล้ว


#อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ แบ่งปันความรู้ให้เพื่อน ๆ ด้วยนะคะ




รายการที่ 1 - 1 จาก 1