- หน้าหลัก
- สาระน่ารู้
- เลคเชอร์กฎหมาย
- "สัญญาค้ำประกัน" มาตรา 685
"สัญญาค้ำประกัน" มาตรา 685
#เลคเชอร์กฎหมาย
#แพ่งและพาณิชย์ #สัญญาค้ำประกัน
▶️ เนื่องจากสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาอุปกรณ์ที่ทำขึ้นเพื่อเป็นการประกันสำหรับหนี้ประธาน ดังนั้นหากหนี้ประธานเป็นหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หนี้ตามสัญญาค้ำประกันย่อมกลายเป็นหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เช่น ถ้าหนี้ประธานเป็นโมฆะ สัญญาค้ำประกันย่อมตกเป็นโมฆะด้วยตามมาตรา 685/1 แม้ลูกหนี้จะผิดนัด เจ้าหนี้ก็ไม่อาจอาศัยสัญญาค้ำประกันมาบังคับเอากับผู้ค้ำประกันได้
✅ หนี้ที่สมบูรณ์ คือ หนี้ที่ไม่ตกเป็นโมฆะ ไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ (พิจารณาเรื่องนิติกรรม) เช่น หนี้ที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย, หนี้ที่ไม่ได้ทำตามแบบ เป็นต้น
‼️หากมูลหนี้ประธานสมบูรณ์ แต่เพียงขาดหลักฐานเป็นหนังสือ ก็สามารถมีการค้ำประกันได้ เพราะมูลหนี้สมบูรณ์แต่ตัวผู้ค้ำประกันเองมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ (มาตรา 694) กรณีมูลหนี้ประธานโมฆียะ พิจารณาคู่กับมาตรา 681 วรรคสี่
‼️หรืออาจกล่าวโดยละเอียดได้ว่า หนี้ที่สมบูรณ์ คือ หนี้ที่หากเกิดขึ้นแล้วจะมีผลผูกพันได้ตามกฎหมาย
ไม่ตกเป็นโมฆะ หรือตกเป็นอันเสียเปล่าไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 1 ว่าด้วยนิติกรรม ทั้งนี้หมายความรวมไปถึงกรณีที่กฎหมายบัญญัติว่าบริบูรณ์ด้วย แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องความสมบูรณ์ หรือไม่สมบูรณ์ของหนี้นี้ จะเกิดขึ้นได้แต่เฉพาะมูลหนี้จากนิติกรรมเท่านั้น ส่วนมูลหนี้จากนิติเหตุ เช่น ละเมิด หรือจัดการงานนอกสั่งหรือมูลหนี้ที่เกิดโดยผลของกฎหมายเมื่อเกิดมีขึ้นแล้ว
หนี้เหล่านี้จึงสมบูรณ์อยู่ในตัวของมันเองเสมอ
▶️ ข้อพิจารณา
1. กรณีที่จะนำมาตรา 681 วรรคสี่ มาปรับใช้ได้ หมายถึงขณะเข้าทำสัญญาค้ำประกัน นิติกรรมเป็นโมฆียะและภายหลังจากนั้นมีการบอกล้างทำให้นิติกรรมไม่ผูกพันลูกหนี้ หากเป็นกรณีที่มีการบอกล้างก่อนที่จะเข้าทำสัญญาค้ำประกัน กรณีย่อมไม่ต้องด้วยมาตรา 681 วรรคสี่ โดยถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่สมบูรณ์ย่อมไม่อาจมีการค้ำประกันได้ตามมาตรา 681 วรรคหนึ่ง
2. เหตุแห่งความเป็นโมฆียะตามมาตรา 681 วรรคสี่ จำกัดแค่ 2 กรณี คือทำด้วยความสำคัญผิดหรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถ หากเป็นโมฆียะเพราะเหตุอื่นย่อมไม่อาจนำมาตรา 681 วรรคสี่ มาปรับใช้บังคับได้ ซึ่งผลก็คือ ผู้ค้ำประกันสามารถยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ตามมาตรา 694
3. มาตร 681 วรรคสี่ หมายถึง ลูกหนี้ชั้นต้นสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถ ถ้าเจ้าหนี้สำคัญผิดหรือไร้ความสามารถ ต่อมามีการค้ำประกัน ไม่ใช่กรณีตามวรรคสี่ หรือถ้าผู้ค้ำประกันสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถเอง หนี้ประธานสมบูรณ์ แต่สัญญาค้ำประกันโมฆียะ ผู้ค้ำประกันย่อมมีสิทธิของตนที่จะบอกล้างได้โดยตรงอยู่แล้ว
4. ดังนั้นถ้าเข้าตามมาตรา 681 วรรคสี่ แล้ว ผู้ค้ำย่อมไม่อาจใช้ข้อต่อสู้ของลูกหนี้ตามมาตรา 694 ได้
#อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ แบ่งปันความรู้ให้เพื่อน ๆ ด้วยนะคะ