การยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญา

1 มกราคม 2567

การยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญานั้นต้องพิจารณาก่อนว่า ศาลได้กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนวันนัดสืบพยานหรือไม่ ถ้ามีการกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานไว้ คู่ความจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173/1 แต่ถ้าศาลไม่ได้กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน แต่กำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือสืบพยานไว้เลย เช่นนี้คู่ความจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 เพราะฉะนั้นหลักเกณฑ์การยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน

ในคดีอาญาจึงแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังต่อไปนี้


1️⃣ กรณีที่ศาลกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน การยื่นบัญชีระบุพยานต้องเป็นไปตามมาตรา 173/1


การยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก คู่ความต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลพร้อมสำเนาก่อนวันตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน (ต้องมี 7 วันเต็ม อยู่ระหว่างวันยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกกับวันตรวจพยานหลักฐาน)


ถ้าได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกไว้แล้ว และคู่ความต้องการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม คู่ความต้องยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาล ก่อนการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้น โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล


ถ้าได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกไว้แล้วและคู่ความต้องการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม แต่มีการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว คู่ความต้องขออนุญาตจากศาล โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลโดยแสดงเหตุผลอันสมควรว่า 1.) ไม่สามารถทราบถึงพยานหลักฐานนั้น หรือ 2.) เป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือ 3.) เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เมื่อศาลพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาต คู่ความจึงจะสามารถยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้


2️⃣ กรณีที่ศาลไม่ได้กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน การยื่นบัญชีระบุพยานต้องเป็นไปตาม มาตรา 229/1


🔸การยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกในการไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณาคดี

กรณีโจทก์ : ต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลพร้อมสำเนาก่อนวันไต่สวนมูลฟ้องหรือก่อนวันสืบพยานโจทก์ไม่น้อยกว่า 15 วัน (ต้องมี 15 วันเต็ม อยู่ระหว่างวันยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกกับวันไต่สวนมูลฟ้องหรือวันสืบพยานโจทก์นัดแรก)

กรณีจำเลย : ต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลพร้อมสำเนาก่อนวันสืบพยานจำเลย

หมายเหตุ : วันสืบพยาน หมายถึง วันสืบพยานโจทก์นัดแรกที่มีการสืบพยานกันจริง ๆ โดยไม่มีการเลื่อนออกไป


🔸ถ้าได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกในการไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณาคดีไว้แล้ว และต้องการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล

กรณีโจทก์ : ต้องยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลพร้อมสำเนาก่อนวันไต่สวนมูลฟ้องหรือก่อนวันสืบพยานโจทก์ไม่น้อยกว่า 15 วัน (ต้องมี 15 วันเต็ม อยู่ระหว่างวันยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมกับวันไต่สวนมูลฟ้องหรือวันสืบพยานโจทก์) โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล

กรณีจำเลย : ต้องยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลพร้อมสำเนาก่อนวันสืบพยานจำเลย โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล


🔸ถ้าได้ยื่นบัญชีระบุพยานในการไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณาคดีไว้แล้ว และต้องการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม แต่สิ้นสุดระยะเวลาแล้ว (กรณีโจทก์ยื่นก่อนวันไต่สวนมูลฟ้องหรือก่อนวันสืบพยานโจทก์ เท่ากับหรือน้อยกว่า 15 วัน กรณีจำเลยยื่นในวันสืบพยานจำเลยหรือหลังจากนั้น)

คู่ความ (โจทก์หรือจำเลย) ต้องขออนุญาตจากศาล โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลโดยแสดงเหตุผลอันสมควรว่าตน 1.) ไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบ หรือ 2.) ไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่ หรือ 3.) มีเหตุสมควรอื่นใด พร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนา ทั้งนี้ต้องยื่นก่อนเสร็จสิ้นการสืบพยานของฝ่ายนั้น


🔸ถ้าไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกในการไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณาคดีไว้เลย และต้องการยื่นบัญชีระบุพยาน แต่สิ้นสุดระยะเวลาแล้ว (กรณีโจทก์ยื่นก่อนวันไต่สวนมูลฟ้องหรือก่อนวันสืบพยานโจทก์เท่ากับหรือน้อยกว่า 15 วัน กรณีจำเลยยื่นในวันสืบพยานจำเลยหรือหลังจากนั้น) คู่ความ (โจทก์หรือจำเลย) ต้องขออนุญาตจากศาล โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลซึ่งต้องแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลให้ได้ว่า มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ พร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนา ทั้งนี้ต้องยื่นก่อนเสร็จสิ้นการพิจารณา


🔥ผลของการฝ่าฝืนมาตรา 173/1 หรือ มาตรา 229/1🔥

ถ้าโจทก์หรือจำเลยในคดีอาญาฝ่าฝืนไม่ยื่นบัญชีระบุพยานตามที่บังคับไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 173/1 หรือมาตรา 229/1 เช่น ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ไม่ได้ระบุอ้างพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ หรือพยานผู้เชี่ยวชาญไว้ในบัญชีระบุพยาน หรือยื่นบัญชีระบุพยานล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้และไม่ได้รับอนุญาตจากศาล เช่นนี้ ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้นำพยานหลักฐานที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการยื่นบัญชีระบุพยานเข้าสืบต่อศาล และแม้มีการนำสืบพยานหลักฐานนั้นเข้ามาในคดี ก็ห้ามศาลไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคสี่

แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นที่ศาลมีอำนาจอนุญาตให้สืบและรับฟังพยานหลักฐานได้ ถ้าศาลเห็นว่า

1) จำเป็นที่จะต้องคุ้มครองพยาน หรือ

2) จะต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม หรือ

3) เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

รายการที่ 1 - 1 จาก 1