- หน้าหลัก
- สาระน่ารู้
- เลคเชอร์กฎหมาย
- ลูกหนี้ที่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 90/1 และ 90/3
ลูกหนี้ที่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 90/1 และ 90/3
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 90/1 และมาตรา 90/3 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 สามารถสรุปหลักเกณฑ์ลูกหนี้ที่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ดังนี้
1️⃣ ลูกหนี้เป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
กล่าวคือ หากลูกหนี้เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มูลนิธิ สมาคม บุคคลธรรมดา ไม่อาจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้
2️⃣ ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้
ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การที่จะพิจารณาว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงสถานะทางการเงินของลูกหนี้ว่ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือไม่ ในการพิจารณาดังกล่าวจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบกัน อาจเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นข้อสันนิษฐานใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 หรืออาจจะเป็นข้อเท็จจริงใด ๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน
ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด คือ การที่ลูกหนี้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นเหตุให้ไม่สามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ตามกำหนดชำระหนี้
3️⃣ เป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
กฎหมายกำหนดจำนวนหนี้ขั้นต่ำไว้โดยอาจเป็นหนี้ของเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันก็ได้ แต่รวมแล้วมีจำนวนหนี้ขั้นต่ำ 10 ล้านบาท (ถือเป็นการกำหนดขนาดกิจการของลูกหนี้)
หนี้ที่กำหนดจำนวนแน่นอนต้องเป็นหนี้ที่สามารถคำนวณได้ เช่น หนี้ตามสัญญาทางแพ่ง แต่ถ้าเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนซึ่งได้มีการฟ้องร้องบังคับคดีจนมีคำพิพากษารับรอง ส่งผลให้กลายเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน เช่น หนี้ละเมิด
4️⃣ มีเหตุอันสมควร
การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้นจะต้องมีมูลเหตุอันนำมาสู่การขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลต้องพิจารณามูลเหตุในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการว่ามีเหตุผลอันสมควรที่ลูกหนี้จะได้รับการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ เช่น ลูกหนี้ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากวิกฤตการทางเศรษฐกิจโลก เป็นต้น
5️⃣ มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
กล่าวคือ มีวิธีการที่จะทำให้สภาวะทางการเงินของลูกหนี้กลับสู่สภาวะปกติได้ ซึ่งถ้าลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว และได้มีการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ก็จะส่งผลให้การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ และสามารถทำให้ลูกหนี้กลับสู่สภาพทางการเงินที่ปกติได้
🔹ตัวอย่าง กรณีมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ
ฎีกาที่ 6858/2546 เมื่อธุรกิจของลูกหนี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี สาเหตุที่ลูกหนี้ประสบปัญหาทางด้านการเงินมาจากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการชะงักงันของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมก่อสร้าง อันถือว่าเป็นปัจจัยภายนอก การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้สามารถรักษาองค์กรทางธุรกิจให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งสามารถจะรักษาการจ้างงานจำนวนมากไว้ กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และได้ความว่ากิจการของลูกหนี้ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยการปรับโครงสร้างทางการเงิน ทั้งในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ ธนาคาร และสถาบันการเงินต่าง ๆ กรณีจึงมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
🔹ตัวอย่าง กรณีไม่มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ
ฎีกาที่ 1933/2548 การฟื้นฟูกิจการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กิจการของลูกหนี้ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวได้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ แต่ปรากฏว่าเมื่อลูกหนี้ไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆ แล้ว และไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ได้รับทุนหมุนเวียนมาจากสถาบันการเงินใด ดังนั้น ลูกหนี้ไม่มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/10
ฎีกาที่ 8271/2559 ลูกหนี้ไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆ แล้ว หยุดดําเนินการมาก่อนยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ จํานวนหกปี ขณะยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการลูกหนี้คงมีเครื่องจักรในสภาพที่ไม่ได้มีการใช้งาน ไม่มีพนักงานที่จะดําเนินการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะรักษากิจการที่ดําเนินการอยู่ให้ดําเนินการต่อไป เพราะกิจการหยุดไปแล้วหกปี นอกจากนั้นเจ้าหนี้รายใหญ่มีหนี้ประมาณร้อยละ 80 คัดค้านการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงไม่มีเหตุอันสมควรและไม่มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ
นอกจากนี้ ในการฟื้นฟูกิจการศาลจะพิจารณาถึงความยินยอม และความรุนแรงของช่วงหนี้ประกอบด้วย กล่าวคือ เจ้าหนี้รายใหญ่หรือเจ้าหนี้ที่มีหนี้มากกว่าครึ่งคัดค้านการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ศาลจึงมองว่าลูกหนี้ไม่มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการเพราะโอกาสที่เจ้าหนี้เสียงข้างมากจะยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการย่อมเป็นไปได้น้อย