สรุปหลักกฎหมาย เรื่อง ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 288

8 เมษายน 2568

สรุปหลักกฎหมาย เรื่อง ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 288


▶️ พิจารณา

1. ใช้อาวุธปืน “เพื่อข่มขู่” เท่านั้น แม้จะจ้องเล็งแล้วก็ตาม ไม่ถือว่ามีเจตนาฆ่า (ฎ.1961/2528)


2. การใช้อาวุธหรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ได้ร้ายแรง (เช่น ใช้ ไม้ มีด ก้อนหิน มือ เท้า กรรไกร ใช้จอบ (ฎ.729/2562) ฯลฯ) กระทำต่ออวัยวะหรือบริเวณอวัยวะที่สำคัญ และกระทำโดยรุนแรง ถือว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่าได้ เพราะพฤติการณ์ว่ามีเจตนาฆ่าหาจำเป็นต้องมีการใช้อาวุธหรือของแข็งทำร้ายเสมอไปไม่ แม้ไม่มีการใช้อาวุธ แต่ได้ทำร้ายด้วยมือหรือเท้าซ้ำ ๆ ที่บริเวณอวัยวะสำคัญของร่างกายก็เป็นพฤติการณ์ที่บ่งบอกถึงเจตนาได้ว่ามีเจตนาฆ่าได้ (ฎ.1065/2563, ฎ.14/2562, ฎ.1261/2561)


3. หากเป็นอวัยวะที่สำคัญซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ ถือว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่า อวัยวะสำคัญ เช่น 

หัว หน้าอก คอ ท้อง ชายโครง ฯลฯ เว้นแต่ว่า จะไม่ได้กระทำโดยแรง เช่น ใช้ไม้ตีหัวเบา ๆ, ใช้มีดกรีดคอเบา ๆ เพื่อให้เป็นแผล, ถีบไปที่ท้องเบา ๆ เพื่อต้องการให้ล้มลง หรือเป็นการกระทำโดยฉับพลันทันที ไม่มีโอกาสเลือกแทง (ฎ.5575/2560)


4. การใช้คำพูด ประกอบการกระทำ

📍ถ้อยคำในลักษณะ “เอาให้ถึงตาย” + การกระทำที่รุนแรง = ถือว่ามีเจตนาฆ่า (ฎ.1329/2512) 

แต่ถ้า!! ใช้ถ้อยคำเพียงว่า “พวกมึงจัดการผู้ตายที” มีลักษณะต้องการเอาเรื่องผู้ตายเพราะมีอารมณ์โกรธและมีเพียงเจตนาที่จะให้ทำร้ายเพื่อสั่งสอน ไม่ถึงกับมีเจตนาฆ่าแต่อย่างใด (เทียบ ฎ.7607/2557 )

📍อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่บอกให้ไปสั่งสอนผู้อื่นโดยมอบอาวุธปืนไปยิงสั่งสอน เป็นการใช้ให้ไป

ฆ่าผู้อื่น (ฎ.13908/2558)

📍จำเลยเดินถืออาวุธปืนเข้าไปหาผู้ตายเพื่อข่มขู่ โดยปากกระบอกปืนชี้ไปหาผู้ตายในระยะใกล้จนผู้ตายสามารถจับปากกระบอกปืนได้ จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาวุธปืนของกลางอาจลั่นถูกผู้ตายถึงแก่ชีวิตได้ แต่จำเลยยังคงกระทำการดังกล่าว เมื่อเกิดการดึงปืนกันจนปืนลั่นถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้ตาย หาใช่เป็นการกระทำโดยประมาทไม่ (ฎ.724/2563)


#อย่าลืมกดไลก์ กดแชร์ แบ่งปันความรู้ให้เพื่อน ๆ ด้วยนะคะ

รายการที่ 1 - 10 จาก 10