สรุปหลักกฎหมาย เรื่อง ประเภทของตั๋วเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 908, 982, 987

20 เมษายน 2568

สรุปหลักกฎหมาย เรื่อง ประเภทของตั๋วเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 908, 982, 987


▶️ ข้อพิจารณาสำคัญ


1. ตั๋วเงินที่มีการระบุชื่อผู้รับเงินลงไว้ แต่ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในแบบฟอร์มออก ย่อมถือว่าเป็นตั๋วเงินชนิดผู้ถือ 


‼️ฎ.3764/2554 เช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้สั่งจ่าย ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก จึงเป็นเช็คผู้ถือ ซึ่งสามารถโอนกันได้โดยเพียงการส่งมอบ เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับมา และนำมาสลักหลังชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตามมาตรา 900


2. กรณีสั่งจ่ายตั๋วเงินโดยเว้นช่องว่างหลังคำว่าจ่ายไว้แล้วไม่มีการเติมข้อความลงไป (ไม่ระบุชื่อผู้รับเงิน) แต่ยังคงมีคำว่าหรือผู้ถือ ดังนี้ ก็ยังคงถือว่ามีรายการครบถ้วนสมบูรณ์เป็นตั๋วเงิน เพราะถือว่ามีการจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือแล้ว 


‼️ฎ.4495/2560 การที่จำเลยที่ 1 มอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์โดยมิได้ระบุชื่อผู้รับเงิน แต่มีข้อความตามแบบพิมพ์ว่า จ่าย หรือผู้ถือ ถือได้ว่าเป็นเช็คที่สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ จึงเป็นเช็คที่มีรายการตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 958 (4) เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย การที่นายอธิคมนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและเขียนชื่อโจทก์หลังคำว่า จ่าย ไม่ทำให้เช็คพิพาทเสียไป โจทก์เป็นผู้ถือเช็คพิพาทไว้ในครอบครองย่อมเป็นผู้ทรงโดยชอบ ตามมาตรา 904


3. กรณีที่เขียนคำว่า “เงินสด” หรือ “สด” ลงในช่องผู้รับเงิน และไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก 

ก็มีผลเท่ากับเป็นตั๋วเงินที่สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ 


‼️ฎ.1385/2554 เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือได้ ย่อมโอนเปลี่ยนมือกันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบเช็คในกรณีเช็คระบุชื่อ หรือด้วยการส่งมอบเช็คในกรณีเช็คผู้ถือ เช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับ เป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดโดยมิได้ระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน และมิได้ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออก จึงเป็นเช็คผู้ถือ โจทก์เป็นผู้มีเช็คพิพาทไว้ในครอบครอง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 904


4. ในกรณีที่ชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินนั้น ระบุแต่เพียงคำว่า “เงินสด” หรือ “สด” โดยมีการขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออก กรณีอย่างนี้จะถือว่าเป็นตั๋วแลกเงินที่ออกให้แก่ผู้ถือไม่ได้ แต่ถือว่าเป็นตั๋วแลกเงินที่ไม่ได้มีการระบุชื่อผู้รับเงิน ตั๋วแลกเงินจึงใช้ไม่ได้


รายการที่ 1 - 8 จาก 8