สรุปหลักกฎหมาย เรื่อง การถอนคำร้องทุกข์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 126

14 พฤศจิกายน 2567

สรุปหลักกฎหมาย เรื่อง การถอนคำร้องทุกข์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 126


🔵ผู้เสียหายเท่านั้นที่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์

📌กรณีผู้เยาว์ร้องทุกข์ บิดาไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ที่ผู้เยาว์ได้ยื่นไว้ โดยฝืนความประสงค์ของผู้เยาว์

ฎ.214/2494 ในกรณีที่ผู้เยาว์อายุ 17-18 ปี ซึ่งเป็นผู้เสียหาย ได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานด้วยตนเอง จนมีการสอบสวนและอัยการได้ดำเนินการฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัว อันกระทำแก่ผู้เยาว์ฐานข่มขืนชำเรา แล้วบิดาของผู้เยาว์ยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนคำร้องทุกข์ ซึ่งเป็นการขัดขืนฝืนความประสงค์ของผู้เยาว์นั้น ศาลย่อมพิเคราะห์ตามรูปเรื่องแห่งคดีนี้เห็นว่า บิดาไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ที่ผู้เยาว์ได้ยื่นไว้ โดยฝืนความประสงค์ของผู้เยาว์


📌กรณีมอบอำนาจให้ไปถอนคำร้องทุกข์ หากผู้เสียหายระบุเวลาของการถอนคำร้องทุกข์ไว้ในหนังสือมอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจก็ต้องถอนคำร้องทุกข์ภายในกรอบระยะเวลานั้น หากพ้นกำหนดที่หนังสือมอบอำนาจมีผลใช้บังคับแล้ว ก็ถือไม่ได้ว่ามีการถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) [คำชี้ขาดความเห็นแย้งฯ ที่ 86/2554]

📍ในคดีความผิดต่อส่วนตัวที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ แล้วต่อมาผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ผู้เสียหายในฐานะโจทก์ร่วมจะไปถอนฟ้องของพนักงานอัยการไม่ได้


📌สิทธิในการถอนคำร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัวอันเกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นความผิดในคดียักยอก คดีฉ้อโกง คดีทำให้เสียทรัพย์ คดีความรับผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค เมื่อผู้เสียหายตาย ย่อมตกแก่ทายาท

📍ฎ.206/2488 สิทธิเกี่ยวกับการถอนคำร้องทุกข์ในคดีความผิดฐานยักยอกนั้นเป็นสิทธิเกี่ยวแก่ทรัพย์สินย่อมตกทอดไปยังทายาท ในคดีความผิดฐานยักยอกเมื่อผู้เสียหายตาย ภรรยาซึ่งเป็นทายาทย่อมมีสิทธิแถลงต่อศาลขอถอนคำร้องทุกข์ได้ตามลำพังผู้เดียว


🔵การถอนคำร้องทุกข์นั้น ผู้เสียหายย่อมถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือต่อพนักงานอัยการหรือต่อศาลก็ได้ แม้ขณะคดีจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดให้ผู้เสียหายต้องถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลเท่านั้น (แต่แสดงเจตนาถอนคำร้องทุกข์ต่อจำเลยไม่ได้)

📌ระวัง!! แต่การถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลนั้น ศาลที่จะมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ต้องเป็นศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา


🔵มาตรา 126 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า “จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้”

📌แม้ตามมาตรา 126 กฎหมายไม่ได้บอกไว้ชัดเจน แต่ศาลฎีกาวางหลักว่า ต้องกระทำก่อนคดีถึงที่สุด

รายการที่ 1 - 10 จาก 10