- หน้าหลัก
- สาระน่ารู้
- ชุดภาพหลักกฎหมาย
- สรุปหลักกฎหมาย เรื่อง ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
สรุปหลักกฎหมาย เรื่อง ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
สรุปหลักกฎหมาย เรื่อง ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
หลักการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเป็นข้อห้ามศาลและคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นแห่งคดีที่ศาลนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ทำนองเดียวกับฟ้องซ้ำหรือคำพิพากษาผูกพันคู่ความ
การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เมื่อใด
มาตรา 144 เป็นข้อห้ามมิให้ “ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล” หรือที่เรียกว่า “การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ” เมื่อพิจารณาจากบทนิยามของคำว่า “กระบวนพิจารณา” ตามมาตรา 1 (7) และ คำว่า “คดี” มาตรา 1 (2) สามารถพิจารณาได้ว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เกิดขึ้นได้นับแต่การเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลเป็นต้นไป
เมื่อพิจารณาจากบทนิยามของคำว่า “กระบวนพิจารณา” ตามมาตรา 1 (7) และ คำว่า “คดี” มาตรา 1 (2) การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอาจเกิดขึ้นได้กับทุกขั้นตอนของการดำเนินกระบวนพิจารณา นับแต่มีการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอ (ฎ.296/2557) การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลา (ฎ.3981/2555) การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการบังคับคดี (ฎ.640 – 641/2556) การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ (ฎ.3138/2559) การยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง (ฎ.6443/2562) การยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ (ฎ.13087/2555, ฎ.476/2562)
ลักษณะ
1.กรณีดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในคดีเดียวกัน
1.1.กรณีดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นแห่งคดี
- กรณีที่ศาลสูงได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อใดแห่งคดีไปแล้ว และย้อนสำนวนมาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นข้ออื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 ดังนี้ ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยประเด็นที่ศาลสูงวินิจฉัยไปแล้วอีกไม่ได้
1.2. กรณีดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นตามคำร้องหรือคำขอ
- ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาไปแล้ว หากมายื่นคำร้องอีกโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคำร้องฉบับแรก เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ (ฎ.3981/2555)
- ข้ออ้างในคำร้องเป็นประเด็นเดียวกัน แม้คำขอท้ายคำร้องต่างกัน = ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำได้ ฎ.9829/2558
1.3. การยื่นคำร้องที่จะทำให้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำยังรวมถึงคำร้องในชั้นบังคับคดีด้วย
2. กรณีดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำกับคดีอื่น มีองค์ประกอบดังนี้
องค์ประกอบที่ 1 คู่ความทั้งสองคดีต้องเป็นคู่ความเดียวกัน
องค์ประกอบที่ 2 ประเด็นทั้งสองคดีต้องเป็นประเด็นเดียวกัน
องค์ประกอบที่ 3 ต้องมีคำพิพากษาซึ่งวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีใดคดีหนึ่งแล้ว